สถาปัตยกรรมพื้นถิ่นเปรียบเสมือนการสร้างงานสถาปัตยกรรมด้วยหัตถศิลป์ by rush_gas@yahoo.com Craft July 9, 2022 งานสถาปัตยกรรมและงานหัตถกรรมนั้น มีความเชื่อมโยงกันมาอย่างยาวนาน เนื่องจากในยุคก่อนอุตสาหกรรม ช่วงศตวรรษที่ 18 เทคโนโลยียังไม่เพียงพอและยังเข้าไม่ถึงในบางพื้นที่ แต่โดยพื้นฐานของมนุษย์นั้นมีความต้องการที่จะปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อม ต้องการที่พักอาศัยที่มีความสบาย ดังนั้นภูมิปัญญาและงานฝีมือจึงเข้ามามีบทบาทในการสร้างงานสถาปัตยกรรมเพื่อตอบโจทย์วิถีชีวิตของมนุษย์ ยกตัวอย่างเช่น ในแถบขั้วโลกเหนือ มีอากาศที่หนาวจัดและมีพายุหิมะเกือบจะตลอดเวลา ชนเผ่าในแถบนั้นจึงสร้างอิกลูขึ้นมา ซึ่งเป็นที่พักที่ใช้วัสดุที่หาได้ในพื้นที่ ได้แก่ น้ำแข็งนำมาตัดและปั้นให้เป็นก้อนสี่เหลี่ยมและนำไปวางซ้อนกันเป็นชั้นเหมือนโดม ภายในตรงชั้นผนังขึงด้วยหนังสัตว์ที่ได้จากการล่าและเป็นของเหลือใช้จากการบริโภคเพื่อกักเก็บความอบอุ่น หรือจะเป็นทางแถบทวีปอเมริกาเหนือ ก็มีชนเผ่าที่มักย้ายถิ่นเพื่อตั้งรกรากใหม่ การสร้างที่อยู่อาศัยจึงต้องมีความสะดวกในการจัดเก็บและติดตั้งประกอบใหม่ จึงได้สร้างเต็นท์ที่เรารู้จักในชื่อทิปปี้ขึ้นมา โดยเต็นท์นี้ก็จะมีความทนทานและวัสดุที่นำมาคลุมก็ทำมาจากหนังสัตว์ที่ล่ามาได้ และการใช้ไม้มาทำโครงสร้าง มีองค์ความรู้ในการถอดประกอบทำให้มีความอบอุ่นในฤดูหนาว เย็นสบายในฤดูร้อน และแห้งเมื่อฝนตก ถือว่าเป็นองค์ความรู้ที่ใช้งานหัตถกรรมมาสร้างให้เกิดเป็นงานสถาปัตยกรรมหรือที่เรียกกันว่า VERNACULAR ARCHITECTURE รวมทั้งในประเทศไทยเรานั้นก็มีงานสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นมากมาย โดยมีลักษณะที่แตกต่างกันไปตามสภาพแวดล้อมภูมิประเทศและวิถีชีวิต รวมทั้งวัสดุที่สามารถหาได้ในพื้นที่เพื่อนำมาใช้ในการก่อสร้าง เช่น การนำไม้จริงมาทำโครงสร้าง การสานผนังด้วยไม้ไผ่ การมุงหลังคาด้วยวัสดุที่ระบายความร้อนได้ดีเช่นหญ้าแฝก การคลุมหลังคาให้มีความหนาป้องกันอากาศหนาวด้วยใบตองตึงในภาคเหนือ หรือการทำฝาไม้ปะกนในภาคกลาง ที่สร้างผนังขนาดใหญ่จากไม้ขนาดเล็กมาประกอบ ซึ่งทำให้แต่ละภูมิภาคมีเอกลักษณ์และการออกแบบเพื่อการใช้งานที่ต่างกันออกไป ATELIER VELA